สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 339   ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(๑) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(๒) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(๓) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(๔) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
(๕) ให้พ้นจากการจับกุม
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท
วรรคสอง ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา ๓๓๕ หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสามแสนบาท[๑๓๕]
วรรคสาม ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
วรรคสี่ ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท
วรรคห้า ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 285/2563

ขณะเกิดเหตุจำเลยใช้อาวุธจี้ที่หลังผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายนั่งคร่อมอยู่บนรถจักรยานยนต์ ผู้เสียหายเบิกความและให้การว่า เมื่อหันไปมอง คนร้ายก็ร้องห้ามในทันทีว่าไม่ให้หันไปมอง เชื่อว่า ผู้เสียหายต้องเกิดความกลัวและไม่กล้าหันมองไปอีก ผู้เสียหายจึงมีเวลาหันไปมองอาวุธที่จำเลยใช้จี้หลังผู้เสียหายในระยะเวลาอันสั้นมาก ทำให้สงสัยว่าผู้เสียหายมีโอกาสเห็นอาวุธที่คนร้ายใช้จี้หลังผู้เสียหายเป็นอาวุธปืนดังที่ให้การในชั้นสอบสวนหรือไม่ หรือเป็นเพียงความเข้าใจของผู้เสียหายเองว่าเป็นอาวุธปืน จึงฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายเห็นอาวุธที่จำเลยใช้จี้ชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายว่าเป็นอาวุธปืน ประกอบกับเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถตรวจยึดอาวุธปืนได้จากจำเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยมีและใช้อาวุธปืนชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคแรก เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์เป็นที่สงสัยว่าจำเลยมีและใช้อาวุธปืนในการชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8209/2559

พฤติการณ์ของจำเลยที่เพียงแต่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและสอบถามว่า เสพยาเสพติดหรือไม่แล้วขอตรวจค้นตัวผู้เสียหายทั้งสองก่อนที่จะล้วงเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายที่ 1 เอาบุหรี่ของผู้เสียหายที่ 2 ไปและบอกว่าจะพาไปตรวจปัสสาวะ หากไม่พบสารเสพติดก็จะปล่อยตัวไปนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 คดีคงฟังได้เพียงว่า จำเลยร่วมกับพวกที่ยังหลบหนีกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (6) (7) วรรคสอง ซึ่งความผิดฐานนี้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ที่ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษให้ถูกต้องได้เพราะความผิดฐานนี้มีโทษเบากว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15518/2557

จำเลยกับพวกร่วมกันกระชากตัวโจทก์ร่วมลงจากรถแท็กซี่และรุมทำร้ายโจทก์ร่วม แล้วนำตัวโจทก์ร่วมขึ้นรถกระบะแล่นออกไปยังบ่อปลาแห่งหนึ่งโดยระหว่างที่อยู่ในรถกระบะจำเลยกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมตลอดทางโดยใช้ขวดเบียร์และท่อนเหล็กเป็นอาวุธ และจำเลยได้ล้วงเงิน 10,000 บาท ของโจทก์ร่วมไป เมื่อจำเลยกระทำความผิดโดยมีอาวุธในเวลากลางคืนและใช้ยานพาหนะ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 335 (1) (7), 340 ตรี

การที่จำเลยและ น. เรียกร้องเงินจำนวน 23,000 บาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวโจทก์ร่วม โดยจำเลยเชื่อว่าโจทก์ร่วมโกงเงิน น. ย่อมเป็นเพียงความเชื่อของจำเลย หาเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมเป็นหนี้ น. ไม่ ดังนั้น เงินจำนวน 23,000 บาท ที่จำเลยเรียกร้องเพื่อแลกกับการปล่อยตัวโจทก์ร่วมจึงเป็นค่าไถ่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 313 วรรคแรก

อนึ่ง เนื่องจากจำเลยจัดให้โจทก์ร่วมได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาโดยโจทก์ร่วมมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 316

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร